วิดิทัศน์

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

เที่ยวงานประเพณีแข่งเรือพิมาย



งานประเพณีแข่งเรือพิมาย เป็นงานประเพณีที่ชาวอำเภอพิมายร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะจัดในวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนพฤศจิกายน งานนี้นอกจากจะมีการแข่งเรือของชาวบ้านจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในอำเภอพิมายและอำเภอใกล้เคียงแล้ว ยังมีการตกแต่งเรือตามแบบเรือพระราชพิธี พร้อมประกวดการแห่เรือด้วย ซึ่งนับว่าเป็นงานที่น่าชมมาก

งานเบญจมาศบานในม่านหมอก



งานเบญจมาศบานในม่านหมอก "เบญจมาศ" เป็นไม้ตัดดอกที่มีมูลค่าการผลิตติดอันดับ 1 ใน 4 อันดับแรกของไม้ตัดดอกทั่วโลก โดยมีประเทศเนเธอร์แลนด์ โคลัมเบีย แอฟริกาใต้ สเปน อิสราเอล สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก สำหรับในประเทศไทย มีแหล่งปลูกอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย นนทบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา อุบล-ราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย และ นครราชสีมา โดยนิยมปลูกแบบดอกช่อมากกว่าแบบดอกเดี่ยว เนื่องจากดูแลรักษาง่ายกว่า สามารถผลิตได้คุณภาพดีในช่วงฤดูกาลผลิต คือ ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงมีนาคม แต่ผลผลิตที่ได้ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค บางครั้งผลผลิตก็ไม่สม่ำเสมอ ผลผลิตไม่ต่อเนื่อง มีอายุการปักแจกันสั้น ปัจจุบัน ต.ไทยสามัคคี ที่ อ.วังน้ำเขียว มีกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ สามารถปลูกเบญจมาศได้ตลอดทั้งปีทั้งในฤดู และนอกฤดู มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นมาก พันธุ์ที่ปลูกทั้งหมดมีมากกว่า 22 สายพันธุ์ ที่มีมากเช่นนั้นก็เพราะตลาดแต่ละที่มีรสนิยมแตกต่างกัน โดยพ่อค้าแม่ค้าจากที่ต่าง ๆ จะเดินทางมาที่นี่ มาบอกด้วยตนเองว่า ต้องการดอกแบบไหน สีอะไร ทางกลุ่มก็จะผลิตให้ได้ตรงตามความต้องการ


อบต. ไทยสามัคคี ร่วมกับ ทางอำเภอ วังน้ำเขียว จึงได้จัด งานเบญจมาศบานในม่านหมอก เป็นงานประจำปีที่สำคัญงานหนึ่ง โดยจะจัดราว กลางเดือน มกราคม ของทุก ๆ ปี โดยภายในงานจะมีการประกวดไม้ดอก ไม้ประดับ หลายชนิด โดยเฉพาะเบญจมาศ ประกวดผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ มีการจัดนิทรรศการทางวิชาการ การตอบปัญหาให้แก่เกษตกร การนำชมแปลงปลูกเบญจมาศ และ ผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ การออกร้านจำหน่ายผลิตผล ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ มากมาย ตลอดงาน

ผลิตภัณฑ์ มีการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร และ ผลิตผลทางการเกษตรแปรรูปมากมาย สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีการจำหน่ายผักปลอดสารพิษ อาหารพื้นเมืองต่าง ๆ ตลอดงาน

การเดินทาง

ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 สายนครราชสีมา-วังน้ำเขียว-ชลบุรี เป็นเส้นทางหลักที่ผ่านอำเภอวังน้ำเขียว และ ใช้ในการติดต่ออำเภอใกล้เคียง การเดินทางจากกรุงเทพ มายังฉะเชิงเทราก่อน ด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์ หรือ โดยถนนสุวินทวงษ์ก็ได้ แล้วใช้เส้นทาง ถนน 304 มุ่งสู่สี่แยกกบินทร์บุรี รวมประมาณ 180 กิโลเมตร จากแยกกบินทร์บุรีนี้ไปถึงวังน้ำเขียว อีก 60 กิโลเมตร เป็นเส้นทางลาดขึ้นเขาสวยงาม ถ้ามาจากจังหวัดนครราชสีมา ตามถนน 304 ผ่านอำเภอปักธงชัย ถึงอำเภอวังน้ำเขียว ระยะทางประมาณ 79 กิโลเมตร

วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

เขาแผงม้า



เขาแผงม้า เคยเป็นป่าผืนเดียวกับเขาใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เป็นต้นน้ำของลำห้วยหลายสาย ไหลรวมกันเป็น ลำพระเพลิง ก่อนลงสู่แม่น้ำมูล เป็นเส้นชีวิตหลัก ของผู้คนในแผ่นดินอีสาน ได้ใช้เป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ในการดำรงชีพมาหลายชั่วคน แต่นโยบายการพัฒนาอย่างเร่งรีบ โดยขาดการวางแผน โดยรอบครอบ ก่อให้เกิดการตัดถนนสายต่างๆ ทะลุกลางป่าเทือกเขาพนมดงรัก การสัมปทานป่าไม้ ทำให้ชาวบ้านจาก ที่ต่างๆ อพยพเข้ามาบุกเบิก หักร้างถางพง ล่าสัตว์ ตัดต้นไม้ ถือครองที่ดิน ในบริเวณเขาแผงม้ามากขึ้นสำทับด้วยการ เน้น การปลูกพืชเศรษฐกิจราคาสูง แต่เพียงอย่างเดียว พื้นดินจึงเสื่อมสภาพลง ด้วยปุ๋ยเคมี ผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ จึงกลายสภาพ เป็นภูเขาหัวโล้น ต้นน้ำที่เคยชุ่มฉ่ำ กลับแห้งผาก ประกอบกับทุ่งหญ้าที่ขึ้นปกคลุม กลายเป็น เชื้อเพลิงอย่างดี ในหน้าแล้ง ไฟป่าโหมไหม้ ทั้งกลางวัน และกลางคืน จนผู้คนขนานนามว่า "ภูเขาไฟ"

จาก "ภูเขาไฟ" กลายเป็น "ทุ่งความหวัง มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ เสนอตัวเขาร่วมโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณเขาแผงม้า เนื้อที่ 5,000 ไร่ โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 และขยายเวลาต่อเนื่องถึง ปี พ.ศ. 2545 มูลนิธิฯ ยึดกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นแนวทางในการปลูกป่า โดยคัดเลือกพันธุ์กล้าไม้ ที่มีสภาพแข็งแรง และมีขนาดโตพอ ไม่ปลูกเป็นแถวเป็นแนว แต่ให้ปลูกคละพันธุ์กันไป เริ่มจากบนเขา ลงสู่พื้นล่าง ไม่มีการเก็บริบสุมเผา ม่มีการตัดฟันไม้ท้องถิ่น ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และสารเคมีหลังจากการดำเนินงานปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือ กับชาวบ้านในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ลดการล่าสัตว์ ตัดไม้ รวมทั้งการเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า อย่างเข้มงวด ทำให้สภาพเขาแผงม้า เริ้มฟื้นตัวจากภูเขาหัวโล้น กลายเป็นพื้นที่สีเขียวชะอุ่มตลอดทั้งปีแน่นขนัดไปด้วย ชนิดและจำนวน ของต้นไม้ที่ปลูก และที่มีอยู่เดิม เขาแผงม้าคืนสู่สภาพ เป็นป่าต้นน้ำ ที่หล่อเลี้ยง ลำห้วยและ สายน้ำลำพระเพลิง สัตว์ป่าหลายชนิด ได้เข้ามาอยู่อาศัยหากิน เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ชะมด อีเห็น เสือปลา หมี กระรอก กระต่าย เป็นต้น

การกลับมาของกระทิงที่เขาแผงม้า เป็นปรากฏการณ์สำคัญ ที่ยืนยันถึงการฟื้นตัวของสภาพป่าเขาแผงม้าคือ การกลับมาของฝูงกระทิงป่า 4-10 ตัว ในช่วงฤดูฝนของ ปีพ.ศ.2538 มูลนิธิฯ ได้เฝ้าติดตามกระทิงฝูงนี้อย่างใกล้ชิด ศึกษาเส้นทางสร้างแหล่งอาหาร พร้อมกับการวางแผนป้องกัน การไล่ล่ากระทิง อย่างเข้มงวด ทำให้ฝูงกระทิงรู้สึกปลอดภัย และใช้เป็นที่อยู่อาศัย มีการผสมพันธุ์ และออกลูกออกหลาน ใหม่ๆ ทุกปี ปัจจุบันคาดว่า มีกระทิงที่เขาแผงม้า ประมาณ 50 ตัว มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ จึงมีความหวังว่าด้วยการ มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น พื้นที่เขาแผงม้าจะได้รับการดูแลรักษาสภาพป่า ให้ฟื้นตัวอย่างถาวร สัตว์ป่า ได้รับการคุ้มครอง และเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ สำหรับเยาวชนและผู้สนใจ ในงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป

วันเวลาที่แนะนำในการดูกระทิง กระทิงเขาแผงม้าสามารถไปเที่ยวชมได้ทุกวันตลอดทั้งปี ช่วงเวลาที่กระทิงออกหากินมักเป็นในช่วงเช้า 06.00 น. และเย็น 18.00 น. ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่เขาแผงม้ากับผม

อุทยานแห่งชาติทับลาน


อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตเทือกเขาพนมดงรัก สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อนต่อเนื่องกัน เป็นบริเวณกว้างขวาง โดยมีเขาที่สำคัญหลายลูก เช่น เขาละมั่ง เขาภูสามง่าม เขาภูสูง เขาใหญ่ เขาวง เขาสลัดได เขาทิดสี เขาไม้ปล้อง เขาทับเจ็ก และเขาด่านงิ้ว ซึ่งยอดเขาละมั่งเป็นยอดเขาที่สูงสุด มีระดับความสูงประมาณ 992 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นเทือกเขายาวต่อเนื่องกันทำให้มีหุบเขาตามธรรมชาติ เหว และน้ำตก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำหลายสาย เช่น ห้วยขมิ้น ห้วยปลาก้าง ห้วยคำแช ห้วยคำขี้แรด ห้วยมูลสามง่าม ห้วยภูหอม ห้วยกระทิง ห้วยลำเลย ห้วยกุดตาสี ห้วยลำดวน เป็นต้น ลำห้วยแต่ละสายไหลรวมกันเป็นแม่น้ำมูล ส่วนลำห้วยสวนน้ำหอม ห้วยหินยาว ห้วยชมพู ห้วยสาลิกา ห้วยวังมืด ห้วยลำไยใหญ่ ฯลฯ ลำห้วยเหล่านี้จะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง

อุทยานแห่งชาติทับลาน ในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ความชุ่มชื้นจะถูกพัดมาจากทะเลอันดามันและอ่าวไทย จนทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับปริมาณน้ำฝนมาก เฉลี่ยตลอดปี 1,070 มิลลิเมตร ฝนจะตกชุกที่สุดในเดือนกันยายน ซึ่งเทือกเขาพนมดงรักจะปะทะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และทำให้ฝนตกในบริเวณด้าน รับลมมากกว่าด้านไม่รับลม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมากราคม อากาศจะหนาวเย็นมากในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุด 22.8 องศาเซลเซียส ฟดูร้อนเริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าวมากในเดือนเมษายนซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 29.3 องศาเซลเซียส สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26.7 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติทับลาน มีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มากสามารถจำแนกได้ 4 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษระทางนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุกชุม

อุทยานแห่งชาติทับลาน ป่าเต็งรัง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ขาดแคลนแหล่งน้ำ มีต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจายทั่วพื้นที่และมักจะมีลำต้นเล็กและเตี้ย พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าเพ็ก หญ้าคา และสาบเสือ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง ฯลฯ

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

ชวนสัมผัสเส้นทางเที่ยวไร่องุ่น ปากช่อง วังน้ำเขียว



จากการทดลองนำพันธุ์องุ่นจากต่างประเทศ เข้ามาปลูกที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ผ่านประสบการณ์การเพาะปลูก การดูแล ด้วยความเอาใจใส่ ในสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศแบบที่ราบสูงของอีสาน ปัจจุบันการปลูกองุ่นที่นี่ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และสามารถนำมาผลิตเป็นไวน์รสเลิศ จนได้รับรางวัลการันตี จากการประกวดในระดับนานาชาติ

ไวน์ PIROM KHAOYAI RESERVE Tempranillo 2006 ของเขาใหญ่ไวน์เนอรี่ ที่ปากช่อง เคยได้รับรางวัล PLANET GOLD จากงาน AWC 2006 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นอกจากนี้ไวน์ Granmonte Flori Unfiered Syrah 2005 ของไร่องุ่นกราน-มอนเต้ ที่ปากช่อง ก็เคยได้รับรางวัล PLATINUM GOLD จากงาน WINE Style Asia Award 2007 ณ ประเทศสิงคโปร์มาแล้วเช่นกัน

อำเภอปากช่อง และอำเภอวังน้ำเขียว เป็นพื้นที่ที่ทำไร่องุ่นได้ผลดี เนื่องเป็นที่ราบสูงติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีอากาศเย็นสบายแม้ในยามฤดูร้อน ในบริเวณนี้ มีการทำไร่องุ่นกันหลายแห่ง และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชม และซื้อหาผลองุ่นสด ผลิตภัณฑ์จากองุ่นเป็นของฝาก ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอันมาก การมาเที่ยวไร่องุ่นในช่วงฤดูร้อนนี้ จะตรงกับช่วงเวลาที่เรียกว่า วินเทจ (Vintage) หรือช่วงเวลาเก็บเกี่ยวองุ่น สำหรับนำมาทำไวน์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนหมดฤดูร้อน ตามเถาองุ่นที่ปลูกอยู่เป็นแถวเป็นแนวสุดสายตาในยามนี้ จะให้ผลผลิตเป็นพวงย้อย ห้อยระย้าอยู่เต็มต้น รอวันที่จะถูกทยอยเก็บเกี่ยว

นอกจากผู้มาเที่ยวจะได้ชื่นชมกับไร่องุ่น พร้อมสูดอากาศอันสดชื่นบริสุทธิ์แล้ว ในไร่องุ่นยังมีบริการร้านอาหาร ที่ท่านจะได้ลิ้มรสชาติอาหารสไตล์ตะวันตกและไวน์รสเลิศ รวมทั้งซื้อของฝากจากไร่องุ่น มีทั้งไวน์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ น้ำองุ่นสด คุกกี้องุ่น แยมองุ่น องุ่นกวน ฯลฯ อีกด้วย ไร่องุ่นบางแห่ง มีบริการทัวร์นำชมไร่องุ่น และให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูก การเก็บเกี่ยว และกรรมวิธีการผลิตไวน์ โดยจะจัดทัวร์เฉพาะหมู่คณะที่ได้นัดหมายล่วงหน้า

จึงขอเชิญชวนท่าน ได้มาสัมผัสกับประสบการณ์ท่องเที่ยว กว่าจะมาเป็นไวน์ "เส้นทางของต้นองุ่น เส้นทางแห่งความภูมิใจ " ที่อำเภอปากช่องและอำเภอวังน้ำเขียว แล้วจะได้พบกับบรรยากาศการท่องเที่ยวที่แตกต่าง เหมือนกับได้ท่องเที่ยวในยุโรป ทั้ง ๆ ที่อยู่ที่ดินแดนภาคอีสานของเมืองไทยนี่เอง สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1 (นครราชสีมา) โทร. 044-213-030, 044-213-666